เงินเฟ้อคืออะไร ส่งผลกระทบกับการใช้เงินของเราอย่างไร
หากพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อนั้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเราทุกคนอยู่แล้ว เพราะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ ค่าอาหาร ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ารักษาพยาบาล ค่ารถ ค่าบ้าน รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเงินกู้ด้วย แต่คนส่วนใหญ่มักจะยังเข้าไม่ถึงและไม่รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงจึงยังจับจ่ายใช้สอยเงินตามนิสัยกันเป็นปกติโดยไม่ได้คำนึงถึงค่าเงินต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะแม้ของบางอย่างจะแพงขึ้นแต่เราก็ยังพอมีกำลังซื้อได้ แต่ถ้าหากมองมวลรวมแล้วย่อมส่งผลกระทบที่หนักหนาต่อระบบทั่วประเทศอย่างแน่นอน
เงินเฟ้อคืออะไร
คือภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง แต่ถ้าหากราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเพียงครั้งเดียวจะไม่จัดว่าเป็นเงินเฟ้อ โดยใช้การวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index : CPI) คำนวณจากราคาเปลี่ยนแปลงที่ผู้บริโภคจ่ายซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ เป็นประจำ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเทียบกับเวลาก่อนหน้า โดยประเทศไทยนั้น CPI จัดทำขึ้นโดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ครอบคลุมสินค้าและบริการกว่า 430 รายการ โดยใช้ดัชนีปี พ.ศ. 2563 เป็นพื้นฐานในการคำนวณเพื่อให้ดัชนีราคาเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะมีการปรับฐานเพื่อคำนวณเงินเฟ้อทุก ๆ 5 ปี
เงินเฟ้อแบ่งได้ 2 ประเภท
- เงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) เป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราสินค้าและบริการทุกประเภทที่เราบริโภคกันทั่วไปเช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม การรักษาพยาบาล ยานพาหนะ ระบบขนส่ง การศึกษา การบันเทิง การสื่อสาร เป็นต้น
- เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เป็นการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปที่หักสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงานออก เพราะเป็นหมวดที่อาศัยการวัดค่าจากสภาพแวดล้อมหรือฤดูกาลเป็นหลัก อยู่เหนือการควบคุมของนโยบายการบริหารเงิน
เงินเฟ้อส่งผลกระทบกับการใช้เงินของเราอย่างไร
เป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้น 3% อธิบายง่าย ๆ ว่าราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ จ่ายสูงกว่าปีก่อนหน้า 3% คือเราเคยซื้อน้ำยี่ห้อนี้ในราคา 10 บาท แต่พอปี พ.ศ. 2560 ราคากลับแพงขึ้นเป็น 13 บาทนั่นเอง ซึ่งเงินเฟ้อส่งผลให้เงินที่เรามีอยู่มีมูลค่าที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อของเราลดลงเพราะราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น ทำให้รายได้ของเราไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณจากราคาสินค้าและบริการเป็นตัวบ่งชี้ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่เงินเฟ้อของรายบุคคลก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในหลาย ๆ ปัจจัยอย่างเงินเดือนที่แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ภาระรอบตัวที่แตกต่างกัน เป็นต้น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน เพราะมีการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่แตกต่างกัน คนละยี่ห้อ คนละรุ่น คนละรสชาติ จึงทำให้ผู้บริโภคบางคนต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ แต่ผู้บริโภคบางคนกลับอาจจะยังไม่รู้สึกว่ามีภาวะเงินเฟ้อเลย
การเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อย่อมส่งผลกระทบต่อตัวเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือราคาสินค้าที่เราเคยซื้อแพงขึ้นแค่บาท 2 บาท แต่เราก็ไม่ควรไว้วางใจมากจนเกินไป ดังนั้นเราจึงต้องบริหารจัดการเงินของเราให้ดีและรัดกุมมากที่สุด เพราะอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบหนักอะไรกับเราในตอนนี้ แต่ในภายภาคหน้าก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่ไม่นอน เราจึงต้องวางแผนสำรองทางการเงินเอาไว้เสมอ